การรักษาอาการปวดจากพังผืดรัดกล้ามเนื้อ

อาการปวดจากพังผืด

พังผืดรัดกล้ามเนื้อเกิดขึ้นได้อย่างไร

เมื่อเกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อเนื่องจากความผิดปกติต่างๆ ร่างกายจะสร้างพังผืดขึ้นมาเพื่อหุ้มส่วนที่มีอักเสบเอาไว้ ซึ่งในช่วงแรกร่างกายจะไม่มีอาการเจ็บปวดใดจากพังผืด เนื่องจากพังผืดถูกสร้างมาบางๆเท่านั้น แต่หากว่าเราปล่อยให้เกิดการอักเสบเดิมๆให้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า พังผืดจะถูกสร้างขึ้นมาพันรัดหนาขึ้นเรื่อยๆ จนถึงจุดที่พังผืดมีขนาดใหญ่พอที่จะรัดกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งได้ ซึ่งเมื่อพังผืดรัดกล้ามเนื้อบริเวณนั้นแล้ว จะเกิดอาการปวดเสียวและหากเราอยู่ในท่าทางที่ก่อให้เกิดการกดทับในบริเวณที่เรียกว่า “จุดกดเจ็บ” อาการปวดเสียวจะรุนแรงขึ้น

จุดกดเจ็บ” ที่ว่านี้คืออะไร จุดนี้จะเป็นบริเวณที่กล้ามเนื้อมีความผิดปกติ เกิดการหดเกร็งเป็นก้อน ทำให้เลือดไม่สามารถเข้าไปหล่อเลี่ยงและไหลเวียนนำมาของเสียออกจากบริเวณนั้นได้ ส่งผลให้บริเวณนั้นเกิดการอักเสบขึ้นมาและเป็นจุดศูนย์กลางของพังผืดนั่นเอง

สาเหตุที่ทำให้เกิดพังผืดรัดกล้ามเนื้อ

  1. การใช้กล้ามเนื้อทำงานมากเกินไปจนได้รับบาดเจ็บ หรือการทำงานที่ต้องใช้กล้ามเนื้อท่าเดียวกันซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเล่นกีฬาโดยปราศจากการบริหารกล้ามเนื้ออย่างถูกวิธี
  2. การทำงานในบางอาชีพที่จำเป็นต้องทำงานซ้ำๆในอิริยาบถเดิมๆหรืออยู่กับที่เป็นเวลานานๆ โดยเฉพาะยิ่งหากอยู่ในอิริยาบถที่ไม่ถูกสุขลักษณะเป็นเวลานาน การอักเสบจะเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย ทั้งนี้เราสามารถพบผู้ป่วยที่มีอาการพังผืดรัดเส้นได้บ่อยครั้ง โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ในท่าทางที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานานๆ
  3. ร่างกายต้องอยู่ในสภาวะที่ไม่ได้เคลื่อนไหวเป็นเวลานานๆ เช่นผู้ป่วยติดเตียง เป็นต้น กล้ามเนื้อจะขาดความยืดหยุ่นและแข็งตึง
  4. เกิดจากกระดูกกดทับเส้นประสาทบริเวณนั้นๆ ทำให้เกิดความเจ็บเสียว ส่งผลให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้นเกิดความเครียดและหดเกร็งต่อเนื่องเป็นเวลานาน

การตอกเส้นกับการรักษาอาการพังผืดรัดกล้ามเนื้อ

การรักษาโดยการตอกเส้น

การตอกเส้นเพื่อรักษาอาการพังผืดรัดกล้ามเนื้อสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ช่วง โดยในช่วงแรกคือการตอกเส้นเพื่อสลายพังผืดก่อน เนื่องจากพังผืดถูกสร้างขึ้นมาพันรัดบริเวณที่มีปัญหาเอาไว้จนเข้าไปรัดเข้ากับกล้ามเนื้อบริเวณโดยรอบหรือไปกดทับเส้นเลือดและเส้นประสาทบริเวณโดยรอบ การตอกเส้นในขั้นต้นจึงเน้นการส่งแรงสั่นสะเทือนเบาๆอย่าวเป็นจังหวะเพื่อให้พังผืดคลายตัวออก ปรับพังผืดที่มีลักษณะแข็งให้เกิดความยืดหยุ่นและตอกเส้นบริเวณโดยรอบเพื่อไล่พังผืดไม่ให้พันรัดแน่นและคลายตัวออกในที่สุด

เมื่อทำการตอกเส้นเพื่อสลายพังผืดแล้ว ในช่วงที่สองจึงเป็นการตอกเส้นเพื่อรักษาจุดกดปวดและบริเวณโดยรอบที่เกิดจุดปวด เราสามารถสังเกตได้ว่าบริเวณนี้จะมีการเกร็งของกล้ามเนื้ออย่างมากจนแข็งเป็นก้อน การตอกเส้นในบริเวณนี้จึงเป็นการตอกเส้นที่เน้นการเพิ่มการไหลเวียนเลือดให้สามารถนำออกซิเจนเข้าไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพดังเดิม การตอกเส้นในขั้นนี้จึงเป็นการตอกเส้นเพื่อทำให้จุดปวดคลายตัวเพื่อลดความเจ็บปวด

รักษาอาการปวดจากพังผืดให้หายขาดได้หรือไม่

แท้จริงแล้วอาการปวดจากพังผืดเกิดจากการกระตุ้นให้เกิดขึ้นโดยร่างกายของเราเอง เมื่อร่างกายต้องแบบรับความผิดปกติจากพฤติกรรมหรือท่าทางการทำงานของเรา กล้ามเนื้อก็จะเกิดการอักเสบขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า การตอกเส้นจึงเป็นการรักษาให้หายจากอาการปวดจากจุดนั้นๆ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการป้องกันไม่ให้เกิดอาการอักเสบซ้ำขึ้นมา

ทำไมอาการปวดจากพังผืดกินยาแก้ปวดเท่าไหร่ก็ไม่หาย

การอยู่เราอยู่ในท่าทางอิริยาบถที่ไม่ถูกสุขลักษณะมาเป็นเวลานานจะส่งผลให้กล้ามเนื้อเกิดความเครียด และเกิดการอักเสบขึ้น ทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อในตำแหน่งต่างๆตามมา เมื่อรับการรักษาโดยการใช้ยาแก้ปวดหรือยาลดอาการอักเสบต่างๆ จึงลดอาการปวดเพียงชั่วคราว เป็นการบิดบังความเจ็บปวดนั้นๆเอาไว้แต่อันที่จริงแล้วต้นตอแห่งการปวดยังคงอยู่ และหากเรากลับไปอยู่ในท่าทางลักษณะเดิมๆอีก ก็จะกระตุ้นให้อาการปวดทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น

วิธีการป้องกันการอักเสบของกล้ามเนื้อเพื่อป้องกันพังผืด

เราสามารถป้องกันไม่ให้กล้ามเนื้อของเราเกิดความเครียดและเกิดการอักเสบได้ง่ายๆดังนี้

  1. เมื่อมีอาการปวดที่จุดใดๆขึ้นแล้ว ให้ลองสังเกตอิริยาบถท่าทางของเราที่เรามักจะทำค้างในท่านั้นๆเป็นเวลานานๆ เช่น การยืนอยู่กับที่นานๆ ทำให้เกิดการอักเสบที่กล้ามเนื้อขาที่ต้องรับน้ำหนักร่างกายของเราเป็นเวลานานๆ การนั่งไม่เต็มก้นทำให้เกิดการอักเสบบริเวณหลังและยังก่อให้เกิดกระดูกสันหลังคดอีกด้วย การนอนหนุนแขนทำให้กล้ามเนื้อบริเวณที่ถูกกดทับต้องรับภาระเป็นเวลานานและยังทำให้เลือดหมุนเวียนไม่สะดวกอีกด้วย เป็นต้น
  2. หมั่นสังเกตกิจกรรมที่เราทำบ่อยๆที่น่าจะเกิดความเสี่ยงในการทำให้เกิดการอักเสบขึ้น เช่น เล่นกีฬาที่ก่อให้เกิดการกระแทกในจุดเดิมๆซ้ำๆ ซึ่งมักทำให้เกล้ามเนื้อบริเวณนั้นๆอักเสบและพังผืดจะถูกสร้างขึ้นมารัดได้อย่างง่ายดาย การนั่งเล่นคอมพิวเตอร์หลังงอซึ่งเป็นต้นกำเนิดของอาการปวดจากทั้งกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และพังผืด เป็นต้น
  3. เมื่อสามารถระบุพฤติกรรมเสี่ยงของเราได้แล้ว ก็ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมดังกล่าว เพื่อไม่ให้อาการปวดเดิมๆเกิดขึ้นซ้ำซากในตำแหน่งเดิมๆ หรือหากว่าเป็นท่าทางที่เราต้องใช้ทำงาน ทำให้หลีกเลี่ยงไม่ได้ ผมขอแนะนำให้หมั่นเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ เช่น บิดตัวไปมา เดินไปเข้าห้องน้ำ
  4. หมั่นยืดกล้ามเนื้อในบริเวณที่มีปัญหา โดยจะต้องยืดในลักษณะที่ไปในทิศทางเดียวกับการเรียงตัวของกล้ามเนื้อ โดยใช้การยืดกล้ามเนื้ออวัยวะนั้นๆออกอย่างช้าๆ แล้วค้างไว้ 5-10 วินาที แล้วทำซ้ำ 5 รอบทุกๆ 3-4 ชั่วโมง

สิ่งที่ง่ายที่สุดก็คือการเริ่มต้นจากต้วเราก่อน แต่สิ่งที่ยากที่สุดก็คือการปรับเปลี่ยนตัวเองนั่นเอง เพื่อให้ร่างกายของเราปราศจากโรคภัยและความเจ็บปวด การตอกเส้นอาจสามารถช่วยให้พ้นจากความเจ็บปวดได้ แต่ความจริงแล้วตัวของเราเองเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดในการที่จะมีสุขภาพที่ดี ทั้งนี้ผมขอเอาใจช่วยให้ทุกๆคนสู้เพื่อตัวเองนะครับ

โดย หมอธนกฤต

2 comments

  1. อยากทราบค่าใช้จ่ายในการรักษา

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

%d bloggers like this: