ในตอนที่แล้วผมได้กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดการปวดเมื่อย และในตอนท้ายที่สุดผมได้มีการพูดถึงการที่กล้ามเนื้อเกิดความเครียดและแข็งตัวขึ้นมาหลายท่านอาจสงสัยว่า การที่กล้ามเนื้อแข็งตัวมีโทษอย่างไร และปกติแล้วเมื่อมีกล้าม กล้ามเนื้อจะแข็งอยู่แล้วไม่ใช่รึ กล้ามเนื้อยิ่งแข็งก็ยิ่งดีน่ะสิ ในบทความตอนนี้มีคำตอบครับ
เบื้องต้นต้องขอทำความเข้าใจก่อนว่ากล้ามเนื้อแข็งในที่นี้นั้นแตกต่างจากคำว่ากล้ามเนื้อแข็งแรง จะเห็นว่าหากผู้ใดอยากแบ่งกล้าม ให้กล้ามแข็งขึ้นมานั้น จะต้องมีการเกร็ง และเมื่อหยุดเกร็งกล้ามเนื้อจะลดการแข็งตัวลง แต่สิ่งที่น่ากลัวก็คือ การที่กล้ามเนื้อของเรานั้นเกร็งตัวตลอดเวลา และเกร็งเป็นเวลานานจะทำให้การแข็งตัวนั้นอยู่นานมากขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น
ผมอยากให้ทุกคนนึกภาพตอนเรานวดแป้งขนมปังก่อนที่จะอบ กบ้ามเนื้อของเราจะมีคุณสมบัติยืดหยุ่นเช่นนั้น เราสามารถปั้นแป้งขนมปังเป็นรูปที่เราต้องการได้ แต่หากเมื่อนำไปอบแล้ว ขนมปังจะแข็งตัว หากว่าเราจะเปลี่ยนรูปทรงขนมปัง ก็จะเกิดการฉีกขาด หรือหักได้ เฉกเช่นกล้ามเนื้อเราที่แข็งเกินไป เมื่อจะมีการขยับเขยื้อนหรือการงอ จะทำได้ยากและเจ็บปวด
เมื่อกล้ามเนื้อค่อยๆแข็งตัวเพิ่มมากขึ้น กล้ามเนื้อจะค่อยๆดันเส้นเลือดเข้าหาแนวกระดูก ซึ่งจุดที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ บริเวณกระดูกสันหลังช่วงคอ เอว สะบักและสะโพก และเมื่อทิ้งเอาไว้นานวันเข้า กล้ามเนื้อที่แข็งจะดันเส้นเลือดเข้าใต้กระดูก จะเกิดอาการที่เรียกกันว่ากระดูกกดทับเส้น พอถึงขั้นนี้อาการเจ็บปวดจะเพิ่มมากขึ้นจนผู้ป่วยทนไม่ไหวถึงขนาดต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูกันเลยทีเดียว
ลักษณะอาการปวดเนื่องจากเส้นเลือดถูกกดทับด้วยกระดูกก็คือ บริเวณที่ถูกกดทับจะเจ็บปวดมาก ลักษณะอาการเจ็บจะเจ็บเสียว จุดที่เจ็บมากคือจุดที่ถูกกดทับและบริเวณปลายของเส้น หากปล่อยทิ้งไว้อาการเหล่านี้จะลามไปตามเส้นที่ต่อเนื่องกัน (ตอนปลายของเส้น) เนื่องจากเมื่อมีการเจ็บปวดแล้ว กล้ามเนื้อบริเวณใกล้เคียงจะเกิดการเกร็งตามมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการกดทับที่บริเวณข้อต่อร่างกายจะสร้างจากพังผืดขึ้นมารัดเส้นนั้น โดยลักษณะอาการปวด จะปวดแปล๊บๆคล้ายถูกไฟฟ้าช็อต ซึ่งจะเป็นเฉพาะจุดและไม่ลามไปจุดอื่น
จะเห็นได้ว่าอาการผิดปกเพียงเล็กน้อย หากปล่อยไว้นานจะทำให้เกิดผลเสียงอย่างมาก เมื่ออาการรุนแรงขึ้น กล้ามเนื้อที่แข็งตัวนี้อาจพัฒนากลายเป็นกล้ามเนื้อตายได้ ในตอนต่อไปมาดูกันครับว่ากล้ามเนื้อตายคืออะไร และอาการจะเป็นอย่างไรบ้าง
บทความโดย หมอธนกฤต