ปวดคอ ปวดบ่า ปวดไหล่

เรามักเข้าใจว่าอาการปวดเมื่อยจะเกิดขึ้นแต่ในเฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ผมเชื่อว่าหลายๆท่านที่อายุไม่เท่าไหร่ กลับมีความรู้สึกปวดเมื่อยขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ต้องนั่งทำงานอยู่ตรงหน้าจอคอมพิวเตอร์นานหรือผู้ที่มักมีพฤติกรรมแบบเดิมๆซ้ำๆเป็นเวลาหลายๆชั่วโมงและไม่ค่อยออกกำลังกาย อาการปวดคอ ปวดไหล่ ไหล่ตึง จะเริ่มมาถามหา

อาการปวดคอ ปวดบ่า ปวดไหล่

อาการปวดนี้จะมีหลายระดับตั้งแต่ระดับเริ่มต้นไปจนถึงขั้นรุนแรง โดยในช่วงเริ่มต้นจะเป็นเพียงแค่อาการปวดคอ บ่า ไหล่ สะบัก อาจรู้สึกตึงๆ คอเคล็ดบ่อย มีอาการเป็นๆ หายๆ แต่สำหรับในรายที่มีอาการรุนแรงขึ้น กล้ามเนื้อบริเวณคอและไหล่จะมีอาการหดเกร็ง ชนิดที่ว่าบางรายไม่สามารถหันคอหรือก้มเงยไม่ได้ มีอาการปวดร้าวตั้งแต่ต้นคอลงไปที่ไหล่ บางรายอาการปวดร้าวลามไปแขน มือไม่มีแรง หยิบของตกบ่อยๆ มีอาการเจ็บบริเวณโคนนิ้วโป้ง และหนักเข้าจะรู้สึกเหมือนไหล่ติด ยกแขนเกาหลังไม่ได้ ซึ่งความจริงแล้วอาการปวดเหล่านี้ หากปล่อยทิ้งไว้นานจะเกิดโรคไมเกรน กล้ามเนื้ออักเสบ และหมอนรองกระดูกเสื่อมตามมา ซึ่งอาการจะลุกลามทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย และยากต่อการรักษามากขึ้น

สาเหตุของอาการปวดคอ บ่า ไหล่

  1. การนอนหมอนที่สูงหรือต่ำเกินไป หรือหนุนหมอนที่ไม่รองรับสรีระการนอนของบุคคลนั้น ๆ
  2. การอยู่ในท่าที่ซ้ำๆเดิมๆเป็นเวลานาน เช่น ทำงานกับคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นเวลาหลายๆชั่วโมง การนั่งก้มหน้าอ่านหนังสือหรือเล่นโทรศัพท์ในท่าเดิมตลอดเวลา
  3. เกิดจากอุบัติเหตุที่ทำให้เกินการกระทบกระเทือนบริเวณคอเช่น การโดนรถชนท้าย
  4. การออกกำลังกายที่หนักหน่วงจนเกินไปโดยไม่มีการเตรียมพร้อม ยืดกล้ามเนื้ออย่างเพียงพอ
  5. เกิดจากความเครียด ซึ่งความเครียดนี้เองเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความผิดปกติของร่างกาย เนื่องจากความเครียดเป็นตัวการสร้างสารอนุมูลอิสระภายในร่างกาย และยังทำให้กล้ามเนื้อในหลายๆส่วนมีการเกร็งตัวอีกด้วย

โรคกล้ามเนื้อหดเกร็ง

ในกรณีนี้ผมขอพูดถึงอาการที่เริ่มรุนแรงขึ้นจากการปวดคอ บ่า ไหล่ ธรรมดา นั่นคือการมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อหรือที่เรียกว่า กล้ามเนื้อหดเกร็ง โดยปกติแล้วกล้ามเนื้อของมนุษย์เราจะมีการหดตัวและคลายตัวสลับไปมาเป็นจังหวะในขณะที่มีการส่งเลือดจากหัวใจไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆในร่างกาย แต่ในขณะที่เรามีพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้ออย่างต่อเนื่อง หลอดเลือดจะถูกกล้ามเนื้อที่เกร็งตัวนี้บีบรัดเอาไว้และเมื่อถูกรัดไว้เป็นประจำ การไหลเวียนของเลือดจะติดขัดทำให้กล้ามเนื้อไม่ได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอและของเสียจะติดค้างอยู่ในกล้ามเนื้อ เมื่อทิ้งไว้นานเข้ากล้ามเนื้อจะชินตัวกับการหดเกร็งอยู่ตลอด ทำให้การคลายตัวน้อยลง ของเสียก็จะคั่งค้างเยอะยิ่งขึ้นจนทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้ออักเสบตามมา ซึ่งการอักเสบอันนี้จะเป็นต้นกำเนิดของอาการพังผืดรัดกล้ามเนื้อในอนาคต

วิธีการบริหารเพื่อป้องกันและบำบัดอาการกล้ามเนื้อลำคอหดเกร็ง

วิธีเบื้องต้นในป้องกันอาการปวดคอคือการยืดเส้นอย่างถูกวิธี โดยสามารถทำเป็นท่าทางต่างๆได้ดังนี้

  • หันศีรษะไปทางขวาอย่างช้าๆจนสุด แล้วค้างไว้ นับหนึ่งถึงสามในใจ เสร็จแล้วสลับหันศีรษะไปทางซ้าย ทำแบบเดียวกัน สลับไปมา 5 ครั้ง
  • ก้มศีรษะลงโดยให้คางสัมผัสอก แล้วค้างไว้นับหนึ่งถึงห้าในใจ แล้วค่อยๆเงยหน้าขึ้นช้าไปด้านหลังจนสุด ค้างไว้เช่นเดิม ทำซ้ำ 5 ครั้ง
  • ยกมือขึ้นประสานไว้บริเวณท้ายทอย ผลักศีรษะให้ต้านกับมือโดยที่ศีรษะไม่เคลื่อนไหว แล้วรับหนึ่งถึงห้าในใจ เสร็จแล้สทำซ้ำ 3 ครั้ง
  • นำมือขวามาวางขนาบใบหน้า พยายามผลีกษีรษะให้ต้านกับมือโดยศีรษะไม่เคลื่อนไหว ค้างไว้นับหนึ่งถึงห้าในใจ เสร็จแล้วสลับทำมือซ้าย ทำซ้ำ 3 ครั้ง

หมั่นทำท่าบริหารกล้ามเนื้อคออยู่เป็นประจำ ท่าบริหารนี้จะช่วยให้กล้ามเนื้อเกิดการคลายตัวและไม่ทำให้เส้นตึง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกล้ามเนื้อหดเกร็งและในผู้ที่เริ่มมีอาการกล้ามเนื้อหดเกร็งแล้ว ท่าบริหารนี้ยังสามารถช่วยบำบัดให้อาการดีขึ้นได้ครับ

ปวดคอ ปวดไหล่เกิดจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่กล้ามเนื้อหดเกร็งได้หรือไม่

อาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักๆที่ทำให้เกิดการเจ็บปวดบริเวณค้นคอ บ่า ไหล่ ซึ่งสามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัยตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่อาการเจ็บปวดต่างๆสามารถเกิดได้จากสาเหตุอื่นๆได้อีกด้วย

สาเหตุอื่นๆที่ทำให้เกิดอาการปวดบริเวณคอได้แก่ การเกิดภาวะกระดูกสันหลังคอเสื่อม เนื่องจากอายุที่มากขึ้น กระดูกสันหลังส่วนคอที่ทำหน้าที่รับแรงกด แรงบิดจากการเคลื่อนไหวศีรษะอาจเสื่อมลงได้ ซึ่งหากเกิดอาการกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อมจะมีอาการปวดคอลงมาถึงสะบัก บางครั้งอาจมีอาการปวดลามขึ้นไปถึงหลังหูได้ หรือในบางรายอาจเกิดอาการปวดคอมาจากการที่กล้ามเนื้ออักเสบอย่างต่อเนื่อง จนร่างกายสร้างพังผืดขึ้นมาจนไปกดทับเส้นประสาทไขสันหลังส่วนคอ โดยมากแล้วผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการปวดตั้งแต่บริเวณคอ ไปจนถึงแขน ทำให้ยกแขนไม่ขึ้นและแขนไม่มีแรง เป็นต้น

บทสรุปอาการปวดคอ ปวดบ่า

ทั้งนี้อาการปวดทั้งหลายมักเกิดจากท่าทางในอิริยาบถต่างๆที่ไม่ถูกสุขลักษณะ โดยเบื้องต้นผมอยากให้ทุกท่านลองดูก่อนว่าการนอนเป็นอย่างไร หมอนสูงไป ต่ำไป หรือนิ่มไปหรือเปล่า การนั่ง เรานั่งถูกวิธีหรือไม่ นั่งไม่เต็มก้นหรือชอบนั่งตัวงอหรือเปล่า เราชอบสะบัดคอบ่อยหรือไม่ เมื่อทำงานแล้วมีการเปลี่ยนท่าทาง เดินยืดเส้นยืดสายหรือไม่ ถ้าหากเราหมั่นสังเกตก็จะเห็นว่าปัญหาการปวดเกิดจากอะไร ก็ขอให้พยายามหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเหล่านั้น เพื่อสุขภาพกายที่ดีนั่นเอง และหากเมื่อเกิดอาการปวดขึ้น หมั่นบริหารร่างกายโดยใช้การยืดเส้น คลายกล้ามเนื้อ เพื่อบรรเทาอาการปวดตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งอาการปวดทั้งหลายหากปล่อยปละละเลยเอาไว้เป็นเวลานานจะทำให้เกิดอาการที่รุนแรงขึ้นได้ครับ

บทความโดย หมอธนกฤต

2 comments

  1. สวัสดีดีค่ะ คือหนูอายุ19เองค่ะแต่หนูปวดต้นคอ ปวดบ่า และสบักค่ะ ปวดเป็นระยะเวลา3ปีแล้วค่ะไม่หายสักทีแรกๆมีอาการปวดเฉยๆร้าวขึ้นหัวบ้างหลังปีที่2-3เริ่มทีอาการหันไม่ได้เอี้ยวคอไม่ได้ค่ะ(ระหว่างนันหนูเคยไปนวดหลายครั้งแล้วต
    ค่ะ แต่ไม่หายจนเริ่มรู้สึกว่ามีเนื้อแข็งด้านข้างต้นคอและร้าวขึ้นหัวค่ะ และตามไรหู(สึกแข็งๆค่ะหนูคิดว่าน่าจะเป็นพังผืดค่ะ)รบกวนคุณหมอหรือผู้มีความรู้ช่วยกรุณาบอกกนูหน่อยค่ะหนูอยากหาย และหนูก็ไม่มีเงินไปรักษาด้วยค่ะจึงมาขอคำปรึกษาค่ะ ขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ.

    1. อาการดังกล่าวเริ่มต้นจากการที่กล้ามเนื้อและเส้นบริเณคอ บ่า ไหล่ มีอาการแข็งตึง จนเวลานานเข้า เส้นจึงแข็งขึ้นมาตามลพคอ ส่งผลให้ตาพร่า หูอื้อ และมีอาการปวดหัวตามมา

      ทั้งนี้เมื่อปล่อยอาการดังกล่าวเป็นเวลานาน จึงมีโอกาสที่จะเกิดการอักเสบ และมีพังผืดขึ้นมาได้ โดยอาการเหล่านี้ทางเราสามารถแก้ได้ครับ โดยใช้การตอกเส้นช่วยลดความแข็ง เกร็งกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น หากว่ามีพังผืดวามานถตอกเส้นเพื่อสลายพังผืดได้ แต่เนื่องจากระยะเวลาที่เป็นมาค่อนข้างนาน อาจต้องใช้การตอกเส้นมากกว่า 2 ครั้งครับ ทั้งนี้ต้องเห็นอาการจริงๆจึงจะประเมิณได้ครับ

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Discover more from ธิติวงษ์คลินิกการแพทย์แผนไทย | ตอกเส้นไม่เจ็บ โดย หมอธนกฤต

Subscribe now to keep reading and get access to the full archive.

Continue reading