ก่อนที่จะพูดถึงท่านอน ผมขอแนะนำเรื่องที่นอนอีกครั้ง ที่นอนที่ดีควรแข็งไว้ก่อน หรือนุ่มได้แต่ต้องไม่ยุบเวลานอนลงไป จะดีต่อโครงสร้างร่างกายและกระดูกของเรา คนเรานอนหลับประมาณ 6-8 ชั่วโมงต่อวัน บางคนนอนอยู่ในท่าเดียวตลอด หากที่นอนยุบตัวหรือเอียงเสียรูปทรง โครงสร้างที่จะเกิดปัญหาคือ กระดูกสันหลัง ตั้งแต่ช่วงคอไล่ลงมาถึงกระดูกเชิงกรานจะบิดเสียรูป นอกจากที่นอนที่ไม่เอื้อต่อสุขภาพแล้วท่านอนของเรายังผิดสุขลักษณะอีก อาการปวดเมื่อยจะยิ่งเพิ่มเป็นทวีคูณเลยครับ วันนี้ผมจะมาแนะนำท่านอนให้พิจารณากันครับ
ท่านอนหงาย เป็นท่านอนที่มีการกดทับน้อยที่สุด เพราะหากมีอวัยวะส่วนใดถูกทับและทำต่อเนื่องเป็นนิสัย จะส่งผลในระยะยาว ทำให้อวัยวะส่วนนั้นมีปัญหาเรื่องการไหลเวียนของเลือด เส้นเอ็นอาจเกิดการอักเสบได้ โดยการนอนควรใช้หมอนต่ำ โดยให้ต้นคออยู่ในแนวเดียวกันกับลำตัว เพื่อไม่ให้ปวดคอ แต่ในขณะเดียวท่านอนหงายจะไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคปอดเพราะกล้ามเนื้อกะบังลมจะกดทับปอดทำให้หายใจไม่สะดวก ส่งผลทำให้การทำงานของหัวใจลำบากยิ่งขึ้น
ท่านอนหงายแล้วยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ ท่านี้หลายคนจะชอบกันมากเพราะรู้กสึกสบาย ยืดเส้นและหายใจสะดวก แต่เมื่ออายุมากขึ้นไขมันที่อยู่ในกระแสเลือดจะค่อยๆจับผนังเส้นเลือดทำให้เส้นเลือดแข็ง อากาศตอนดึกๆจะเย็น กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นต่างๆจะหดตัวลง เมื่อตื่นตอนเช้าจะทำให้ปวด เมื่อมีการขยับแขนหรือเอาแขนลง จะปวดมากจนอาจต้องใช้แขนอีกข้างช่วยยกแขนลง เหตุการณ์เช่นนี้จะพบได้ในช่วงอายุตั้งแต่ประมาณ 45-50 ปีขึ้นไป แต่ส่วนใหญ่จะพบเมื่ออายุประมาณ 50 ปี
ตอนต่อไปผมจะยังคงพูดถึงเรื่องการนอนหงายต่อครับ ว่านอนหงายท่าไหนส่งผลอะไรต่อเราอีกบ้าง
บทความโดย หมอธนกฤต